ลำดับการขึ้นของฟันน้ำนมและฟันแท้

  ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรก มีทั้งหมด 20 ซี่
ซี่แรกจะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และจะขึ้นครบ 20 ซี่เมื่ออายุประมาณ 2 ปีครึ่ง

ฟันน้ำนม จะมีลักษณะต่างจากฟันแท้คือ ฟันจะซี่เล็กกว่า และมีสีขาวกว่าฟันแท้ ในเด็กที่มีแต่ฟันน้ำนม จะเห็นได้ว่า ฟันจะมีลักษณะห่างกัน ไม่ชิดกันในแต่ละซี่ อันนี้เป็นลักษณะปกติในฟันน้ำนม เพราะฟันแท้ที่ขึ้นมาแทนจะมีซี่ใหญ่กว่าและ จะทำให้ช่องว่าง พวกนั้นหมดไปเอง แต่ถ้าเด็กคนใดมีฟันน้ำนมเรียงชิดกันสวยงาม อาจจะเป็นได้ว่า ฟันแท้มักจะเก ซ้อนกัน หรือไม่มีที่ขึ้น  ซึ่งจะต้องรับการจัดฟันในอนาคต

หลายๆคนคิดว่าฟันน้ำนมไม่มีรากฟัน แท้ที่จริงแล้วฟันน้ำนมมีรากฟันเช่นเดียวกับฟันแท้ แต่ว่าเมื่อฟันแท้กำลังขึ้นมาแทนที่ รากของฟันน้ำนมจะค่อยๆละลายหายไป จนเมื่อรากฟันละลายหายไปจนหมด ฟันก็หลุดออกมาเอง คนทั่วไปจึงเห็นว่าฟันน้ำนมที่หลุดออกมาไม่มีรากและก็เลยคิดไปว่ามันไม่มีรากฟัน

 

ประโยชน์ของฟันน้ำนม
               1. เพื่อให้เด็กใช้เคี้ยวอาหาร   เด็กที่ฟันผุส่วนใหญ่จะเคี้ยวอาหารไม่ค่อยได้ มักจะดูดนมเสียมากกว่า เด็กพวกนี้ถึงแม้ว่าจะอ้วนสมบูรณ์ แต่จริงๆแล้วร่างกายมักไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากเด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน
2. ช่วยให้ใบหน้าสวยงาม และสร้างความสมดุลในระบบการบดเคี้ยว
3. ช่วยในการออกเสียงให้ถูกต้อง
4. เป็นแนวทางในการขึ้นของฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทนที่ตามเวลา  หากถอนฟันน้ำนมออกไปก่อนกำหนด ฟันแท้ก็ยังจะไม่ขึ้น  ฟันน้ำนมที่เหลืออยู่ก็จะเคลื่อนที่เข้ามาในช่องว่าง เป็นสาเหตุให้ฟันแท้ขึ้นมาซ้อนเกได้

ลำดับการขึ้นของฟันแท้

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับฟันแท้

ฟันแท้เป็นฟันชุดที่สองมีทั้งหมด 32 ซี่ ประกอบด้วย ฟันบน 16  ซี่ ฟันล่าง 16  ซี่ ซึ่งฟันแต่ละซี่จะมีรูปร่างและหน้าที่แตกต่างกัน เช่น ฟันหน้าตัดทำหน้าที่ตัดหรือกัดอาหาร ฟันเขี้ยวทำหน้าที่ฉีกอาหาร ฟันกรามน้อยและฟันกรามทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร ฟันแท้จะขึ้นมาในช่องปากครั้งแรกเมื่อเด็กอายุได้ 6 ขวบเป็นฟันกรามซี่ที่ 1 ล่าง ถ้าดูจากในช่องปากจะอยู่หลังจากฟันน้ำนมซี่ในสุดเข้าไป ฟันซี่นี้อยากจะขอให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กช่วยกันดูแล เพราะคนส่วนมากมักคิดว่าฟันซี่นี้เป็นฟันน้ำนม เนื่องจากขึ้นมาในช่องปากโดยไม่ได้แทนที่ฟันน้ำนม  ฟันกรามซี่ที่ 1 มีความสำคัญมากเพราะเป็นซี่ที่สำคัญที่สุดในการบดเคี้ยวอาหารไปตลอดชีวิต หรือจะเรียกว่าเป็นหัวใจสำคัญในการบดเคี้ยวอาหาร จึงมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในวัยเรียน เป็นอย่างมาก เด็กที่มีฟันผุมักจะมีร่างกายผอม ไม่แข็งแรง เด็กบางคนอาจมีผลทำให้ขาดอาหารได้ เพราะใช้ฟันเคี้ยวอาหารไม่สะดวก ใช้ฟันซี่อื่นไม่ถนัด ในการบดเคี้ยวดีเท่าฟันซี่นี้  นอกจากนี้ฟันแท้ซี่นี้เป็นแนวทางให้ฟันแท้ซี่อื่น ๆ ที่จะขึ้นต่อไป ขึ้นได้ตรงตามตำแหน่งทำให้การสบฟันทั้งปากเป็นปกติเป็นการป้องกันการเกิดฟันเกและฟันซ้อนในเด็ก อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรให้สมบูรณ์

 

               ฟันแท้จะทยอยกันขึ้นและฟันน้ำนมก็จะค่อยๆ หลุดร่วงออกไป จนกระทั่งเมื่ออายุ12-13 ปี ฟันแท้จะขึ้นมา 28 ซี่ ต่อจากนั้นจะไม่มีฟันขึ้นมาใหม่เลย จนอายุประมาณ 18 ปี ฟันแท้ 4 ซี่สุดท้ายซึ่งเป็นฟันกรามซี่ในสุด (ซี่ที่ 3) จะขึ้นมาในช่องปาก  เนื่องจากเป็นฟันที่ขึ้นมาหลังสุด อาจจะขึ้นเอียงๆ หรือนอนตะแคงอยู่เพราะเนื้อที่ของขากรรไกรไม่พอ  คนส่วนใหญ่เรียกฟันซี่นี้ว่า “ฟันคุด” และมักจะถูกถอนออกเพราะไม่มีที่ขึ้น ในผู้ใหญ่บางคนฟันแท้อาจจะมีไม่ครบ 32 ซี่ ซึ่งพบได้มากในปัจจุบัน ฟันที่หายไปมักจะเป็นฟันกรามซี่ในสุด สันนิษฐานว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดจากวิวัฒนาการของมนุษย์

 

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น